Hypertension Update
รบกวนสอบถาม เรื่องการรักษาผู้ป่วย เส้นเลือดสมองแตกจากโรคความดันโลหิตสูง 2617 View(s)
ขอเล่าเรื่องก่อนน่ะค่ะ คือว่า คุณพ่อค่ะ อายุ47
วันนี้ท่านเข้าห้องน้ำเเล้วล้ม เเขนขาไม่มีเเรง ซีกซ้ายค่ะ
มีอาการปากเบี้ยว พูดไม่ชัด เดินไม่ไหว
หลังจากเกิดเหตุการณ์นี้ขี้น ทางตัวดิแํนเองก้อได้พาส่ง รพ. แล้ว
ได้รบการรักษาแล้วค่ะ
คุณหมอที่รพ.ทำการสเเกนเเล้ว พอเลือดออกในสมอง ได้ทำการให้ยา
เเต่ความดันของพ่อสูงมากค่ะ ไม่ยอมลง ความดันสูงถึง 260 ค่ะ
อันนี้ คือถามพยาบาล ความดันสูงอยู่ 4วันค่ะ
ลดในวีนที่5คุณหมอบอกว่า ไม่ต้องผ่าเเล้วความดันลง เลือดในสมองก็เเห้งเเล้ว
เเต่เท่าที่สังเกต ซีซ้ายของคุณพ่อยังตก กล้ามเหนื่อยที่หน้า ตกหย่อนคล้อย
ไปข้างซีกซ้าย ซืึ่งเเตกต่างกับหน้าข้างขวามมากค่ะ

ต้องบอกก่อนว่า คุณพ่อเจอหน้าทีไรพูดโต้ตอบได้ตลอดค่ะ
เเต่การพูดไม่เหมือนเดิมค่ะ ช้าเเละไม่ชัด
ขอเล่าต่อน่ะค่ะ หลังจาก5 วันผ่านไป พ่อกลับมาบ้านเองค่ะ
ท่านลุกเดินได้เเล้ว
แล้วออกจาก รพ. มาเองยัง งง ว่า
ที่คุยกับพยาบาลว่าต้องทำกายยภาพแแล้วออกมาได้ อย่างไร แต่ได้ยาจาก รพ.
เป็นยาลดความดัน
คุณพ่อกลับมาอยู่บ้านเเล้วทุกคนในบ้านก็
สังเกตเห็นความผิดปกติได้บ้างอย่างค่ะ
คือคุณพ่อเหมือนจะจำอะไรไม่ค่อยได้ พูดเรื่องเดิมซำไป
มือหรือเเขนข้างซ้ายก็ไม่ยอมใช้ค่ะ เเต่ให้เค้ายกให้ดู ก้อยกได้
บอกให้เตะขาข้างซ้ายให้ดูก้อได้ เเต่คุณพ่อไม่ค่อยยอมใช้เเขนข้างซ้าย
หยิบจับอะไร ก้อเลยปล่อยไว้เหมือนไม่มีเเรง
เเต่ตัวดิฉันเองก้อบังคับให้เค้าใช้เเขนซ้าย บอกให้จับด้วยเเขนซ้าย

เเต่ทีกังวัลเรื่องหลงลืมของคุณพ่อมากค่ะ
อยากขอคำปรึกษา เเนวทางการรักษา
ขอขอบพระคุณค่ะ
--------------------------------------------------------------
กรณีของผู้ป่วย ได้รับการวินิจฉัย สาเหตุของอาการทางสมอง ชัดเจนว่า มีเลือดออกในสมอง อันน่าจะมีต้นเหตุ จากภาวะความดันโลหิตสูงที่ไม่ได้ควบคุม (กรณี ล้มในห้องน้ำ หากไม่ได้มีศ๊รษะกระแทก รุนแรง หรือมีบาดแผลที่รุนแรง น่าจะเกิดจากการอ่อนแรงของขา จึงเป็นสาเหตุทำให้ล้ม) เบื้องต้นยังขาดข้อมูลเพิ่มเติมว่า ภาวะเลือดออกในสมอง นั้นเกิดที่บริเวณใดของสมอง เนื่องจากว่ายังมีสาเหดุอื่นๆ ที่อาจเป็นสาเหตุของภาวะเลือดออกในเนื้อสมองที่ไม่ได้เกิดจากการบาดเจ็บ (nontraumatic intracerebral hemorrhage) โดยจากการศีกษาของ นายแพทย์ John R. Hesselink จำแนกสาเหตุและอุบัติการณ์ของภาวะดังกล่าว ได้แก่

1.โรคความดันโลหิตสูง พบเป็นสาเหตุ ร้อยละ 36
2.โรคหลอดเลือดโป่งพองในสมอง (Aneurysm) พบเป็นสาเหตุ ร้อยละ 36
3.ภาวะเส้นเลือดผิดปกติ Aetrioveneous (AV) malformation พบเป็นสาเหตุ ร้อยละ 11
4.สาเหตุอื่นๆ เช่น เลือดออกจากเนื้องอกในสมอง , การแข็งตัวของเลือดผิดปกติ , เลือดออกตามหลังการขาดเลือดของเนื้อสมอง หรือ ภาวะแทรกซ้อนจากการรักษาทางการแพทย์ เป็นต้น พบเป็นสาเหตุ ร้อยละ 17

ตำแหน่งเลือดออกในเนื้อสมอง ที่จำเพาะ ต่อภาวะเลือดออกในสมองที่ เกิดจากภาวะความดันโลหิตสูงที่ไม่ได้รักษา ได้แก่
1.Basal ganglia hemorrhage , โดยเฉพาะที่ตำแหน่ง Putamen
2.Thalamic hemorrhage
3.Pontine hemorrhage
4.Cerebrellar hemorrhage

อาการและอาการแสดง มักเป็นลักษณะเฉียบพลัน เช่น ปวดศีรษะขึ้นมาทันที บางครั้งมีอาเจียนร่วมด้วย หรืออาจมีอาการหมดสติ แขน ขา อ่อนแรง หรือ มีอาการชา ขึ้นมาทันที แบบครึ่งซีก หรือด้านใดด้านหนึ่งของร่างกาย มีอาการพูดลำบาก พูดไม่ออก ออกเสียงไม่ชัด หรือ ฟังไม่เข้าใจภาษา
เวียนศีระษะ บ้านหมุน หรือเสียการทรงตัว ซึ่งอาการและอาการแสดงทั้งหลายที่เกิดขึ้นนั้นเป็นผลจากการทำงานของสมองที่มีผลกระทบ หรือบกพร่องไป

ในบางรายเกิดอาการในขณะที่ผู้ป่วยยืน หรือเดินอยู่ อาการแขน,ขาอ่อนแรงครึ่งซีก ทำให้ผู้ป่วยพยุงหรือทรงตัวไม่อยู่แล้วล้มลง เมื่อญาติมาพบทำให้เข้าใจว่าเกิดอุบัติเหตุ แล้วทำให้มีเลือดออกในสมอง
แต่ผลจากการตรวจร่างกายและการเอ็กเรย์คอมพิวเตอร์สมอง ทำให้แพทย์สามารถแยกสาเหตุของหลอดเลือดในสมองแตกออกจากการเกิดอุบัติเหตุได้

โรคหรือปัจจัยเสี่ยงของผู้ป่วยที่ทำให้เกิดภาวะเลือดออกในสมอง ได้แก่
1.ภาวะความดันโลหิตสูง
2.ภาวะไขมันในเลือดสูง
3.การสูบบุหรี่
4.โรคเบหวาน
5.การดื่มแอลกอฮอล์
6.อายุมาก
7.มีประวัติเคยเป็นโรคหลอดเลือดสมอง
โดยในผู้ป่วยบางรายอาจมีปัจจัยเสี่ยงมากกว่า 1 อย่าง

การตรวจวินิจฉัย ภาวะหลอดเลือดสมองแตกจากภาวะความดันโลหิตสูง สามารถตรวจได้โดยเครื่องเอ็กเรย์คอมพิวเตอร์สมอง (CT scan) ซึ่งจะปรากฏให้เห็นก้อนเลือดที่ออกในเนื้อสมอง ซึ่งจะอยู่ลึกไปจากผิวสมองประมาณ 4-5 เซนติเมตร เลือดที่ออกมานั้นเกิดจากการแตกของหลอดเลือดฝอยในเนื้อสมอง

แนวทางการรักษา มี 2 วิธี ได้แก่ การรักษาทางยา และ การรักษาโดยการผ่าตัด โดยแพทย์โรคสมองทางด้านอายุรกรรม และศัลยกรรม จะร่วมกันพิจารณา โดยข้อมูลที่ต้องประกอบการพิจารณา ประกอบด้วย
(1) อาการของผู้ป่วนย โดยพิจารณาว่าในขณะนั้นผู้ป่วยมีอาการหนักมากหรือน้อยแค่ไหน โดยเฉพาะสิ่งที่จะต้องพิจารณาเป็นสำคัญ คือ ระดับความรู้สึกตัวของผู้ป่วย ส่วนมากผู้ป่วยที่มีอาการหนัก มักไม่รู้สึกตัว, ซึม หรือหลับมาก นอกจากนั้นข้อมูลที่ได้จากการตรวจร่างกายอื่นๆ ก็ต้องนำมาประกอบพิจารณาเพื่อใช้เป็นแนวทางตัดสินการรักษาที่เหมาะสมสำหรับผู้ป่วยอีกด้วย
(2) ชนาดของก้อนเลือด ถ้าก้อนเลือดมีขนาดใหญ่มาก ส่งผลให้ผู้ป่วยมีอาการหนักมาก ในขณะเดียวกันถ้าก้อนเลือดมีขนาดเล็ก ผู้ป่วยมักจะมีอาการไม่มาก โดยทั่วไปถ้าอาการของผู้ป่วยไม่หนัก ก้อนเลือดมีขนาดไม่ใหญ่นัก
แพทย์อาจจะพิจารณาให้การรักษาทางยา แต่ถ้าผู้ป่วยมีอาการหนักและก้อนเลือดมีขนาดใหญ่ อาจจะต้องพิจารณาเรื่องการทำการผ่าตัด เลือดที่ออกในสมองในตำแหน่งต่าง ๆ กัน ก็จะส่งผลต่อความเสี่ยงในการทำการผ่าตัด โดยทั่วไปถ้าก้อนเลือดอยู่ที่ผิวสมอง การผ่าตัดก็จะมีความเสี่ยงน้อยกว่าก้อนเลือดที่อยู่ลึกลงไป ยิ่งก้อนเลือดอยู่ลึกมากความเสี่ยงก็จะยิ่งมีมาก

ในบางตำแหน่งของสมอง เช่น แกนสมอง การผ่าตัดจะทำได้ยาก และผลของการผ่าตัดมักไม่ค่อยดีนัก แต่ส่วนใหญ่ในรายที่เกิดจากภาวะความดันโลหิตสูง เลือดจะออกในเนื้อสมองซึ่งอยู่ลึกลงไปจากผิวสมองประมาณ 4-5 เซนติเมตร แพทย์จะพิจารณาทำผ่าตัดเปิดกะโหลกศีรษะ โดยใช้กล้องขยาย (Microscope) เพื่อเข้าไปทำผ่าตัดเอาก้อนเลือดออกเพื่อลดความดันในกะโหลกศีรษะ ซึ่งการผ่าตัดแบบนี้จะมองเห็นรายละเอียดได้ชัดเจนมาก ทำให้แพทย์สามารถเอาก้อนเลือดออกและห้ามเลือดได้ดี การผ่าตัดแบบนี้เรียกว่า “Microsurgery” ซึ่งมีความปลอดภัยสูงและแผลผ่าตัดก็มีขนาดเล็ก

ผู้ป่วยบางราย ในระยะแรกอาการอาจจะมีไม่มากนัก แพทย์จึงพิจารณาให้การรักษาทางยา แต่ในผู้ป่วยบางรายระหว่างที่ให้การรักษาทางยา ผู้ป่วยอาจจะมีอาการทรุดลงได้เนื่องจาก
1. ผู้ป่วยที่ตรวจเอ็กซเรย์คอมพิวเตอร์สมองภายใน 6 ชั่วโมงแรก ก้อนเลือดที่เห็นจะยังมีเลือดซึมออก ในเวลาต่อมา เมื่อก้อนเลือดมีขนาดเพิ่มขึ้น อาการผู้ป่วยก็จะมีมากขึ้น
ดังนั้นหลังจาก 6 ชั่วโมงไปแล้ว ถ้าผู้ป่วยมีอาการทรุดลง อาจจะต้องพิจารณาทำการตรวจเอ็กซเรย์คอมพิวเตอร์ซ้ำอีกครั้ง ถ้ามีเลือดออกเพิ่มขึ้นอาจจะต้องพิจารณาทำการผ่าตัด
2. ภายใน 48 ชั่วโมง สมองจะมีอาการบวมตามมา ถ้าสมองบวมมากประกอบกับมีก้อนเลือดขนาดใหญ่พอสมควรอยู่แล้ว จะทำให้ผู้ป่วยมีอาการทรุดลงได้ แต่โดยปกติเมื่อเริ่มการรักษา
แพทย์ก็จะพิจารณาการให้ยาลดอาการสมองบวมอยู่แล้ว ดังนั้นเมื่อผู้ป่วยมีอาการทรุดลงก็อาจจะต้องใช้วิธีการทำผ่าตัดร่วมด้วย
3. ในบางรายก้อนเลือดหรือลิ่มเลือด อาจจะไปขัดขวางการไหลเวียนของน้ำในโพรงสมอง ทำให้เกิดภาวะน้ำคั่งในสมองฉับพลัน หรือค่อยเป็นค่อยไปก็ได้
ซึ่งเป็นสาเหตุที่ทำให้ผู้ป่วยมีอาการทรุดลงในกรณีแบบนี้การทำผ่าตัดใส่ท่อระบายน้ำที่คั่งในสมอง ก็จะเป็นการรักษาให้ผู้ป่วยมีอาการดีขึ้น

แนวทางการรักษา
การป้องกันเป็นการรักษาโรคหลอดเลือดสมองที่ดีที่สุด และควรป้องกันก่อนการเกิดโรคหลอดเลือดสมอง คือ ต้องควบคุมปัจจัยเสี่ยงที่ส่งเสริมให้หลอดเลือดเกิดการตีบ อุดตัน หรือแตก
เช่น ความดันโลหิตสูง โรคหัวใจ โรคเบาหวาน ไขมันในเลือดสูง การสูบบุหรี่ หรือขาดการออกกำลังกาย เป็นต้น
1.ตรวจเช็กสุขภาพประจำปีเพื่อค้นหาปัจจัยเสี่ยง ถ้าพบต้องรีบรักษาและพบแพทย์อย่างสม่ำเสมอ
2.ในกรณีที่พบว่ามีปัจจัยเสี่ยงที่ทำให้หลอดเลือดตีบ อุดตัน หรือแตก ต้องรักษาและรับประทานยาอย่างสม่ำเสมอตามแผนการรักษาของแพทย์ ห้ามหยุดยาเอง และควรรีบพบแพทย์ทันทีถ้ามีอาการผิดปกติ
3.ควบคุมระดับความดันโลหิต ไขมัน และน้ำตาลในเลือดให้อยู่ในเกณฑ์ปกติ
4.ควบคุมอาหารให้สมดุล หลีกเลี่ยงอาหารรสเค็ม หวาน มัน
5.ออกกำลังกายสม่ำเสมอ อย่างน้อย 30 นาทีต่อวัน 3 ครั้งต่อสัปดาห์ และควบคุมน้ำหนักให้เหมาะสม
6.งดสูบบุหรี่ หลีกเลี่ยงเครื่องดื่มแอลกอฮอล์
7.ถ้ามีอาการเตือนที่แสดงว่าเลือดไปเลี้ยงสมองไม่พอชั่วคราว ควรรีบมาพบแพทย์ถึงแม้ว่าอาการเหล่านั้นจะหายได้เองเป็นปกติ
8.ผู้ที่เป็นหลอดเลือดสมองตีบหรืออุดตันแล้ว แพทย์จะให้การรักษาโดยใช้ยาเพื่อป้องกันการกลับเป็นซ้ำของโรคหลอดเลือดสมอง แต่การใช้ยาเหล่านี้จำเป็นต้องมีการติดตามผลและใช้ภายใต้คำแนะนำของแพทย์อย่างเคร่งครัด เนื่องจากถ้ามีการใช้ยาผิด ประมาทเลินเล่อ หรือไม่มีการติดตามดูแลอย่างสม่ำเสมออาจเกิดภาวะแทรกซ้อนอย่างรุนแรง เป็นอันตรายถึงแก่ชีวิตได้

การทำกายภาพบำบัดในผู้ป่วยโรคหลอดเลือดสมอง
แม้ว่าอัตราการเสียชีวิตของผู้ป่วยโรคหลอดเลือดสมองจะมีแนวโน้มลดลง แต่ผู้ป่วยจะเกิดอาการบกพร่องหรือพิการต่างๆ เกิดขึ้นกับร่างกาย อาการบกพร่องพิการเหล่านี้ บางอย่างอาจฟื้นฟูให้กลับมาสู่สภาพเดิมได้ยาก
และผู้ป่วยกว่า 2 ใน 3 จะเกิดอาการบกพร่องพิการอย่างใดอย่างหนึ่งติดตัวไปตลอดชีวิต ดังนั้น ระหว่างที่ผู้ป่วยรับการรักษาโรคหลอดเลือดสมอง ก็จะต้องทำการบำบัดเพื่อฟื้นฟูอาการบกพร่องพิการต่างๆ ควบคู่กันไปด้วย เพื่อไม่ให้อาการบกพร่องพิการทรุดหนักไปมากกว่านั้น

การบำบัดรักษาอาการบกพร่องพิการนี้ เรียกว่า "เวชศาสตร์ฟื้นฟู" ซึ่งนอกจากจะหมายถึงการฟื้นฟูอาการแขนขาอ่อนแรงจากการเป็นอัมพาตอัมพฤกษ์แล้ว ยังรวมถึงการฝึกฝนเพื่อบำบัดรักษาอาการบกพร่องต่างๆ
เช่น การพูด การกลืนกินอาหาร และอื่นๆ เพื่อให้ผู้ป่วยสามารถกลับไปใช้ชีวิตในสังคมได้ตามเดิมเวชศาสตร์ฟื้นฟูสำหรับผู้ป่วยโรคหลอดเลือดสมอง แบ่งได้เป็น 3 ระยะคือ "ระยะเฉียบพลัน" "ระยะฟื้นตัว" และ "ระยะทรงตัว"

1.ระยะเฉียบพลัน คือระยะ 1-2 สัปดาห์หลังจากมีอาการป่วยเป็นโรคหลอดเลือดสมอง
การบำบัดฟื้นฟูในช่วงนี้ จะเริ่มในขณะที่ผู้ป่วยยังนอนอยู่บนเตียง ภายหลังจากที่ล้มป่วย โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อจะป้องกันการหดตัวของกล้ามเนื้อและการยึดติดของข้อต่อ และเพื่อให้ผู้ป่วยสูญเสียพละกำลังไปน้อยที่สุด
เพื่อเตรียมความพร้อมก่อนการบำบัดฟื้นฟูในช่วงต่อไป ก่อนที่จะทำการบำบัดฟื้นฟู ผู้ป่วยจะต้องได้รับการตรวจคัดกรองจากแพทย์ เพื่อประเมินระดับการรับรู้ อาการอ่อนแรง อาการชา และระดับการเคลื่อนไหวของข้อต่อต่างๆก่อน จากนั้น แพทย์และนักกายภาพบำบัดจะกำหนดเป้าหมายในการฟื้นฟู และให้การบำบัดฟื้นฟูผู้ป่วยตามแผนที่วางไว้่ต่อไป เมื่อทำการบำบัดฟื้นฟูเบื้องต้นในขั้นนี้แล้ว ผู้ป่วยส่วนใหญ่จะมีพละกำลังกลับคืนมาเพียงพอที่จะนั่งบนเตียงได้ จึงจะทำการฝึกให้ผู้ป่วยสามารถทรงตัวในท่านั่งได้เป็นเวลานานๆ

2.ระยะฟื้นตัว คือระยะ 3-6 เดือนหลังจากมีอาการป่วยเป็นโรคหลอดเลือดสมอง
อาการของผู้ป่วยในช่วงนี้จะเริ่มทรงตัว และสามารถนั่งเป็นเวลานานๆได้ จึงจะเริ่มทำการบำบัดฟื้นฟูที่ศูนย์เวชศาสตร์ฟื้นฟูหรือแผนกกายภาพบำบัดเฉพาะทาง โดยจะทำการบำบัดฟื้นฟูอย่างเข้มข้มตามแผนการฟื้นฟูที่แพทย์กำหนดไว้ให้กับผู้ป่วยแต่ละราย

3.ระยะทรงตัว คือระยะที่พ้นจากระยะฟื้นตัวไปแล้ว โดยทั่วไปผู้ป่วยแต่ละรายจะมีการฟื้นฟูที่ดีขึ้นเมื่อเทียบกับช่วงแรกภายหลังจากที่ล้มป่วยใหม่ๆ แต่ในทางตรงกันข้าม หากสมรรถนะใดไม่สามารถฟื้นฟูให้กลับมาเป็นปกติได้ในช่วงนี้ ก็มีโอกาสสูงที่อาการบกพร่องพิการนั้นจะเหลือติดตัวไปตลอดชีวิต ระยะทรงตัว จึงเป็นระยะที่ผู้ป่วยจะต้องทำการบำบัดอย่างต่อเนื่องเพื่อไม่ให้สูญเสียสมรรถนะที่ฟื้นฟูมาได้แล้วนั้นไปอีก
เมื่อผู้ป่วยออกจากโรงพยาบาลกลับมาอยู่ที่บ้าน จึงยังต้องทำการบำบัดฟื้นฟูที่บ้าน หรือที่สถานพยาบาลเฉพาะทางอย่างต่อเนื่องไปตลอดชีวิต เพื่อรักษาสมรรถภาพนั้นๆ ให้คงอยู่ตลอดไป

การเริ่มทำการบำบัดฟื้นฟู
ควรเริ่มตั้งแต่ขั้นระยะเฉียบพลัน ในขณะที่ผู้ป่วยยังต้องนอนพักอยู่บนเตียง โดยลำดับแรกจะเป็นการฝึกเพื่อจัดวางตำแหน่งของมือและเท้าในท่านอนให้ถูกต้อง และฝึกการพลิกตัวเพื่อป้องกันการเกิดแผลกดทับ
โดยจะต้องเปลี่ยนท่านอนให้กับผู้ป่วยทุกๆ 2 ชั่วโมง และใช้ผ้าห่ม หมอน หรือถุงทราย เพื่อรองมือหรือเท้า เพื่อจัดท่านอนของผู้ป่วยให้ถูกต้อง นอกจากนี้จะต้องช่วยขยับข้อต่อต่างๆให้กับผู้ป่วย เพื่อป้องกันอาการกล้ามเนื้อหดเกร็งและข้อต่อติด ให้กับผู้ป่วยด้วย การดูแลผู้ป่วยด้วยวิธีข้างต้นจะต้องทำให้กับผู้ป่วยทุกรายแม้จะยังไม่มีสติก็ตามซึ่งทั้งหมดนี้ถือเป็นการเตรียมความพร้อมให้กับผู้ป่วยในระยะที่ต้องนอนอยู่บนเตียง ก่อนที่่จะเริ่มทำการบำบัดฟื้นฟูอย่างจริงจังในระยะต่อไป


การบำบัดฟื้นฟูผู้ป่วยโรคหลอดเลือดสมองควรรีบทำตั้งแต่เนิ่นๆ
การทำการบำบัดฟื้นฟูให้กับผู้ป่วยตั้งแต่ในระยะเฉียบพลัน มีวัตถุประสงค์เพื่อกระตุ้นการฟื้นฟูให้เร็วขึ้น และป้องกันภาวะกล้ามเนื้อฝ่อลีบและข้อติดจากการไม่ได้ใช้งาน (Disuse syndrome)
การระมัดระวังจนเกินไปและให้ผู้ป่วยพักผ่อนอยู่บนเตียงแต่เพียงอย่างเดียว จะทำให้กล้ามเนื้ออ่อนแรง และผู้ป่วยจะเคลื่อนไหวตัวยากมากยิ่งขึ้น และเป็นอุปสรรคในการบำบัดฟื้นฟูในระยะถัดไป อีกทั้งยังจะทำให้เกิดอาการติดเชื้อได้ง่าย และในระยะยาวอาจทำให้ผู้ป่วยต้องนอนใช้ชีวิตอยู่บนเตียงไปตลอดชีวิต
ทีมแพทย์ พยาบาล และนักกายภาพบำบัด จึงจะจัดเตรียมแผนการบำบัดฟื้นฟูเพื่อป้องกันปัญหาเหล่านี้ ซึ่งญาติและผู้ป่วยก็ต้องให้ความร่วมมือในการบำบัดฟื้นฟูนี้โดยเคร่งครัด

การบำบัดฟื้นฟูในเบื้องต้น
ในช่วงแรกนักกายภาพบำบัดจะช่วยทำและฝึกสอนการทำกายภาพบำบัดเพื่อคลายอาการเกร็งของแขนขาและป้องกันข้อต่อติด หลังจากนั้นจะฝึกให้ผู้ป่วยเริ่มเคลื่อนไหวด้วยตนเอง โดยมีเป้าหมายให้ผู้ป่วยสามารถทรงตัวในท่านั่ง เพื่อให้สามารถนั่งบนเตียงหรือบนเก้าอี้ได้ด้วยตนเองการที่ผู้ป่วยโรคหลอดเลือดสมองจะลุกขึ้นนั่งบนเตียง ถือเป็นเรื่องที่ลำบากอย่างยิ่ง เพราะร่างกายยังอ่อนปวกเปียก ทรงตัวไม่อยู่ และจะล้มไปทางซีกที่อ่อนแแรง ดังนั้นในช่วงแรกจึงต้องใช้เครื่องช่วยพยุงตัว และค่อยๆเพิ่มระยะเวลาในการฝึกนั่งให้นานยิ่งขึ้น ในช่วงนี้ แพทย์จะตรวจวัดความดันของผู้ป่วยเพื่อเปรียบเทียบกันระหว่างขณะที่นอน นั่ง และยืน เพื่อป้องกันการหมดสติของผู้ป่วยที่อาจมีความดันโลหิตต่ำในขณะอยู่ในท่ายืน เมื่อผู้ป่วยสามารถลุกขึ้นนั่งและนั่งทรงตัวได้แล้ว ก็จะเริ่มฝึกกิจกรรมบำบัดพื้นฐานที่จำเป็นในการใช้ชีวิตประจำวันต่อไป โดยแพทย์จะทำการคัดกรองผู้ป่วยอีกครั้งหนึ่ง และหากวินิจฉัยว่าผู้ป่วยมีความพร้อมที่จะทำการบำบัดในระยะที่ 2 (ระยะฟื้นฟู) ก็จะเริ่มฝึกกิจกรรมบำบัดพื้นฐานให้กับผู้ป่วยต่อไป

ในการคัดกรองผู้ป่วยเพื่ิอทำการบำบัดในระยะฟื้นฟู แพทย์จะตรวจสอบข้อมูลดังต่อไปนี้
1.ความดันโลหิต ชีพจร อัตราการหายใจ
2.การมีสติรับรู้สมบูรณ์เพียงพอหรือไม่
3.มีอาการอ่อนแรงหรือชาเพิ่มขึ้นหรือไม่ หากเพิ่มขึ้นอาจแปลว่ารอยโรคมีการขยายมากขึ้น
4.ผู้ป่วยมีโรคประจำตัว เช่น ความดันโลหิตสูง เบาหวาน โรคหัวใจ โรคไขข้ออักเสบ ที่จะเป็นอุปสรรคในการทำกายภาพบำบัดหรือไม่
ซึ่งหากผลการคัดกรองพบว่าผู้ป่วยยังไม่สามารถทำการบำบัดในระยะฟื้นฟูได้ ก็จะให้ทำการฝึกและดูแลเพื่อไม่ให้กล้ามเนื้อฝ่อลีบและข้อต่อติด และทำการรักษาโรคต่อไปก่อน

วิธีการเลือกสถานพยาบาลเพื่อทำการบำบัดในระยะฟื้นฟู
การเลือกสถานพยาบาลควรพิจารณาเรื่องต่างๆ ดังนี้
1.เป็นสถานพยาบาลด้านเวชศาสตร์ฟื้นฟูที่ได้รับใบอนุญาตถูกต้อง
2.มีแพทย์เวชศาสตร์ฟื้นฟูเข้าเวรประจำ
3.มีนักกายภาพบำบัด นักกิจกรรมบำบัด นักอรรถบำบัด อย่างเพียงพอ
4.ให้บริการบำบัดฟื้นฟูในวันเสาร์อาทิตย์และวันหยุดยาวด้วยหรือไม่
5.มีอัตราการฟื้นฟูสมรรถนะของผู้ป่วยได้ดีมากน้อยเพียงใด
6.มีความร่วมมือกับโรงพยาบาลที่มีแพทย์สาขาอายุรกรรมประสาทและเครื่อง MRI หรือไม่ เป็นต้น
ทั้งนี้เนื่องจากประเด็นหลักในการเลือกสถานพยาบาลในระยะฟื้นฟูคือ จะต้องพิจารณาว่าผู้ป่วยจะได้รับการบำบัดฟื้นฟูที่มีประสทธิภาพเพียงใด ดังนั้น สถานพยาบาลที่จะเลือกควรมีแพทย์และบุคลาการเฉพาะทางอย่างเพียงพอ

อีกทั้งโรคหลอดเลือดสมองเป็นโรคที่มีโอกาสเกิดซ้ำได้สูง ดังนั้นสถานพยาบาลดังกล่าวจึงควรมีแพทย์อายุรกรรมประสาทและเครื่อง MRI หรือควรมีความร่วมมือกับโรงพยาบาลขนาดใหญ่ที่อยู่ใกล้เคียงซึ่งมีแพทย์และอุปกรณ์ดังกล่าว เพื่อความปลอดภัยในยามฉุกเฉิน

การย้ายสถานพยาบาลเพื่อทำการบำบัดในระยะฟื้นฟู
โดยทั่วไปเมื่อผู้ป่วยโรคหลอดเลือดสมองได้รับการรักษาพยาบาลจนพ้นขีดอันตราย และสามารถเริ่มฝึกกายภาพบำบัดในระยะฟื้นฟูได้แล้ว แพทย์จะแจ้งเรื่องการสิ้นสุดการรักษา และให้คำแนะนำเกี่ยวกับการทำกายภาพบำบัดในระยะฟื้นฟู ซึ่งหากโรงพยาบาลแห่งแรกไม่มีแผนกเวชศาสตร์ฟื้นฟู ผู้ป่วยก็จะต้องหาสถานพยาบาลแห่งใหม่ที่ให้บริการเวชศาสตร์ฟื้นฟู อย่างไรก็ตาม เนื่องจากสถานพยาบาลของรัฐที่ให้บริการเวชศาสตร์ฟื้นฟูในประเทศไทยยังมีจำนวนไม่มาก อีกทั้งสถานพยาบาลแต่ละแห่งอาจไม่มีเตียงว่าง จะต้องรอคิวเป็นเวลานาน ผู้ป่วยและญาติจึงต้องเตรียมหาสถานพยาบาลไว้แต่เนิ่นๆ เพื่อให้ผู้ป่วยสามารถทำกายภาพบำบัดในระยะฟื้นฟูได้อย่างต่อเนื่องโดยไม่ต้องเสียเวลารอให้เตียงว่าง เพราะจะทำให้เสียเวลาไปโดยเปล่าประโยชน์

ในการย้ายสถานพยาบาลเพื่อเข้ารับการทำการบำบัดฟื้นฟูเฉพาะทาง ปกติผู้ป่วยจะต้องเข้ารับการตรวจประเมินจากแพทย์เวชศาสตร์ฟื้นฟูของสถานพยาบาลดังกล่าวด้วยตนเองก่อน ซึ่งในขณะนั้นผู้ป่วยอาจจะยังมีสถานะเป็นผู้ป่วยในของโรงพยาบาลแห่งแรกอยู่ ดังนั้นญาติจึงต้องร่วมเดินทางไปด้วย และไปติดต่อขอรับการตรวจวินิจฉัยในสถานพยาบาลแห่งที่ 2 ในสถานะผู้ป่วยนอกก่อน การที่ผู้ป่วยเดินทางไปตรวจรับการวินิจฉัยด้วยตนเอง จะทำให้แพทย์เวชศาสตร์ฟื้นฟูสามารถตรวจเช็คอาการบกพร่องพิการของผู้ป่วยได้อย่างถูกต้องและเป็นประโยชน์ต่อการวางแผนและกำหนดระยะเวลาในการบำบัดฟื้นฟู และเนื่องจากสถานพยาบาลของรัฐมีข้อกำหนดเกี่ยวกับระยะเวลาในการรับผู้ป่วยเข้าทำการบำบัดฟื้นฟูไว้ค่อนข้างจำกัด คือปกติประมาณ 1.5 เดือน ซึ่งไม่เพียงพอต่อการบำบัดในระยะฟื้นฟู ดังนั้น ระหว่างที่เข้ารับการบำบัดอยู่นั้น ผู้ป่วยและญาติอาจจำเป็นต้องหาสถานพยาบาลแห่งที่ 3 และ 4 เพื่อเข้ารับการบำบัดฟื้นฟูต่อไปอีกด้วย

วัตถุประสงค์ของเวชศาสตร์ฟื้นฟู
แม้ว่าอัตราผู้เสียชีวิตจากโรคเส้นเลือดสมองจะมีแนวโน้มลดลง แต่ผู้ป่วยส่วนใหญ่กว่า 2 ใน 3 จะเกิดความพิการอย่างใดอย่างหนึ่งเหลือติดตัวไปตลอดชีวิต
วัตถุประสงค์หลักของเวชศาสตร์ฟื้นฟู คือการบำบัดฟื้นฟูสมรรถนะที่สูญเสียไปของผู้ป่วยให้ฟื้นคืนกลับมาได้มากที่สุด และเพื่อช่วยรักษาสมรรถนะที่ได้รับการฟื้นฟูมาแล้วนั้น ให้ไม่เสื่อมหรือถดถอยลงไปกว่าเดิม
แม้อาการพิการของผู้ป่วยแต่ละรายจะมีความหนักเบาต่างกัน แต่ก็ไม่สามารถปฏิเสธได้ว่าอาการพิการของผู้ป่วยจะดีขึ้นได้มากหรือน้อยเพียงใดนั้น ขึ้นอยู่กับวิธีและระยะเวลาในการทำกายภาพบำบัดของผู้ป่วยแต่ละราย
นอกจากนี้ การช่วยให้ผู้ป่วยสามารถทำกิจวัตรประจำวัน (ADL : Activities of Daily Living) การเพิ่มคุณภาพการใช้ชีวิตที่ดีขึ้นให้กับผู้ป่วย (QOL : Quality of Life)
และการช่วยเหลือให้ผู้ป่วยสามารถกลับไปใช้ชีวิตได้ในสังคม ก็ถือเป็นวัตถุประสงค์หลักที่สำคัญของเวชศาสตร์ฟื้นฟูอีกด้วย

ลำดับขั้นตอนเวชศาสตร์บำบัด
การรักษาตำแหน่งข้อต่อในขณะที่นอน
ผู้ป่วยที่ไม่สามารถขยับแขนขาเองได้ จะเกิดอาการข้อต่อยึดติด ซึ่งจะรักษาให้หายกลับมาเหมือนเดิมได้ยาก จึงต้องใช้หมอนหรือผ้าขนหนูช่วยในการจับยึดตำแหน่งของแขนและขาให้อยู่ในท่านอนที่ถูกต้อง

การฝึกการเคลื่อนไหวบริเวณข้อต่อ
คือการให้นักกายภาพบำบัดหรือพยาบาลทำการยืดและงอข้อต่อในส่วนหัวไหล่ ข้อศอก ข้อมือ นิ้ว ข้อเท้า หรือส่วนอื่นๆ ซึ่งเป็นวิธีการป้องกันไม่ให้ข้อต่อเหล่านั้นยึดติดและขยับเขยื้อนไม่ได้

การฝึกการนั่ง
เมื่อความดัน ชีพจร อุณหภูมิ และการหายใจของผู้ป่วยกลับมาอยู่ในสภาพปกติ ก็จะเริ่มฝึกให้ผู้ป่วยลุกขึ้นนั่งบนเตียงโดยไม่ต้องช่วยพยุง ซี่งเมื่อลุกนั่งบนเตียงได้ดีแล้ว ก็จะฝึกการย้ายตัวจากเตียงขึ้นนั่งรถเข็นเป็นลำดับต่อไป

การฝึกการกลืนกิน
ผู้ป่วยที่ไม่สามารถกลืนกินอาหารได้ จึงได้รับการฝึกให้เคลื่อนไหวปาก ฝึกการหายใจ ฝึกการเปล่งเสียง และฝึกการกลืนกินอาหารนิ่มๆด้วย

การฝึกออกกำลังกาย
เป็นการฝึกออกกำลังกายโดยการเคลื่อนไหวอวัยวะส่วนต่างๆของร่างกาย พร้อมกับการฝึกลุกขึ้นยืน ฝึกการทรงตัวในท่ายืน การเดิน การขึ้นลงบันได และอื่นๆ โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อฟื้นฟูความสามารถในการทำกิจวัตรประจำวัน

ผู้ป่วยที่อยู่ในขั้นฝึกเดินหรือกำลังจะเริ่มฝึกเดิน จะต้องเน้นการฝึกออกกำลังกายขาด้านที่ไม่มีแรง เพื่อเพิ่มแรงขาให้มากขึ้น หรืออย่างน้อยก็ต้องไม่ให้มีแรงลดน้อยลงกว่าเดิม ขณะเดียวกันก็จะต้องฝึกการลุกขึ้นยืน การทรงตัว และการทิ้งน้ำหนักลงบนขาด้านที่ไม่มีแรงควบคู่กันไปด้วย นอกจากนี้ การฝึกขาข้างปกติให้มีแรงมากขึ้นก็เป็นสิ่งที่จำเป็น เพราะจะทำให้ผู้ป่วยมีความคล่องตัวในการทำกายภาพบำบัดต่างๆ จึงควรฝึกออกกำลังกายขาทั้ง 2 ข้างควบคู่กันไปด้วย

ในการเริ่มฝึกเดิน นักกายภาพบำบัดจะตรวจวิเคราะห์อาการของผู้ป่วยแต่ละคน และแนะนำวิธีการใช้อุปกรณ์ที่เหมาะสม เช่น ไม้เท้า หรือเครื่องช่วยพยุงข้อเท้า ให้กับผู้ป่วย ซึ่งเมื่อผู้ป่วยมีพัฒนาการที่ดีขึ้น นักกายภาพบำบัดก็จะปรับโปรแกรมการฝึกให้เหมาะสมกับความสามารถของผู้ป่วย โดยค่อยๆลดการใช้อุปกรณ์ช่วยเหลือลงเรื่อยๆ จนถึงขั้นการฝึกเดินโดยไม่ต้องใช้เครื่องช่วยพยุงใดๆ ในช่วงเริ่มต้นของการฝึกเดิน นักกายภาพบำบัดจะเดินประกบไปกับผู้ป่วยด้วยทุกครั้งเพื่อระวังไม่ให้ผู้ป่วยหกล้ม และเมื่อผู้ป่วยมีกำลังขาแข็งแรง และมีการทรงตัวที่ดีเพียงพอ นักกายภาพบำบัดก็อาจอนุญาตให้ผู้ป่วยฝึกเดินได้ตามลำพัง เพื่อให้ผู้ป่วยได้มีเวลาที่จะฝึกเดินได้มากยิ่งขึ้นนั่นเอง

การฝึกเพื่อรักษาอาการชาบนใบหน้า
ทำได้โดยการฝึกเพ่งสมาธิไปที่ใบหน้า และพยายามขยับกล้ามเนื้อต่างๆบนใบหน้า ซึ่งแม้ว่าอาจจะขยับได้เพียงเล็กน้อยก็ตาม แต่ก็จะช่วยบรรเทาอาการเกร็งของกล้ามเนื้อบนใบหน้าให้อ่อนลง และทำให้การไหลเวียนของโลหิตดีขึ้น กล้ามเนื้อบนใบหน้าเป็นกล้ามเนื้อที่สำคัญ เนื่องจากเป็นกล้ามเนื้อที่แสดงความรู้สึกต่างๆ เช่น ดีใจ เสียใจ รัก โกรธ ให้ปรากฏบนใบหน้า ผู้ป่วยจึงควรฝึกกล้ามเนื้อบนใบหน้าโดยการใส่อารมณ์นั้นๆควบคู่กันไปด้วย

วิธีการฝึกควรทำข้างหน้ากระจก โดยฝึกไป มองกระจกไป และทำให้สนุกและต่อเนื่อง
นอกจากนี้ การพูดก็มีส่วนช่วยรักษาอาการได้ด้วย จึงควรให้ผู้ป่วยคิดถึงเรื่องที่สนุก หรือเรื่องที่อยากจะทำในอนาคต และให้พูดเรื่องเหล่านั้นออกมา ซึ่งผู้ป่วยส่วนใหญ่ก็จะเกิดรอยยิ้มหรือการหัวเราะขึ้นมาด้วยตามธรรมชาติ นอกจากนี้ การใช้ผ้าร้อนเช็ดหน้าผู้ป่วยสลับกับผ้าเย็น ก็เป็นกระตุ้นการไหลเวียนของโลหิตบนใบหน้าให้ดีขึ้นอีกด้วย

การบำบัดทางฟิสิกส์
คือการบำบัดอาการต่างๆที่จะเป็นอุปสรรคในการฝึก เช่น อาการข้อต่อยึดติด อาการเกร็ง อาการปวดไขข้อกระดูก หรืออาการอ่อนล้า โดยการใช้ความร้อนหรือไฟฟ้ากระตุ้นเส้นประสาทหรือกล้ามเนื้อ เพื่อบรรเทาอาการนั้นๆ

กิจกรรมบำบัด
คือการฝึกเพื่อฟื้นฟูความรู้สึกของมือและนิ้ว โดยการให้ผู้ป่วยใช้มือและนิ้วเพื่อทำกิจกรรมหรือเล่นเกมส์ต่างๆ ซึ่งหากมือข้างที่อ่อนแรงเป็นมือข้างที่ถนัด ก็จะต้องฝึกให้ใช้มือข้างที่ไม่ถนัดเพื่อทำกิจวัตรประจำวันแทนด้วย

การฝึกนิ้วมือ
ผู้ป่วยโรคหลอดเลือดสมองที่มีอาการพิการไม่รุนแรง หรือผู้ป่วยที่ได้ทำกายภาพบำบัดและมีพัฒนาการขึ้นมาในระดับหนึ่ง จะต้องเริ่มทำการฝึกการเคลื่อนไหวนิ้วมือ
นิ้วมือเป็นอวัยวะที่มีการเคลื่อนไหวที่ละเอียดอ่อน และจำเป็นต้องใช้ในชีวิตประจำวันมากที่สุด ไม่ว่าจะเป็นการหยิบจับช้อนส้อม การติดกระดุมเสื้อ การเขียนหนังสือ หรือการเปิดหน้าหนังสือพิมพ์ และอื่นๆอีกมากมาย
ซึ่งการฝึกนิ้วมือให้สามารถเคลื่อนไหวได้อย่างละเอียดอ่อนและราบรื่นนี้ เป็นงานที่ต้องใช้ความอดทนและความวิริยะอุตสาหะเป็นอย่างมาก

ตัวอย่างในการฝึกนิ้วมือ เช่น การหยิบแท่งไม้กลมๆ ขนาดเท่าชอล์คที่เสียบอยู่ในรูบนแผ่นกระดานขึ้นมา แล้วพลิกแท่งไม้กลับหัวหาง แล้วเสียบกลับลงไปในแผ่นกระดาน โดยใช้มือเพียงข้างเดียว ซึ่งขั้นตอนข้างต้นนี้
หากเป็นคนปกติทั่วไปสามารถทำได้ง่ายๆโดยใช้เวลาเพียง 2-3 วินาทีเท่านั้น แต่สำหรับผู้ป่วยโรคเส้นเลือดสมองซึ่งมีความบกพร่องพิการของประสาทสัมผัสที่ปลายนิ้วนั้น อาจต้องใช้เวลาฝึกนานนับเดือน เพราะจะต้องเริ่มฝึกตั้งแต่การหยิบของโดยใช้นิ้ว 2 นิ้ว และยกขึ้นมาโดยไม่ให้หล่น ฝึกการหมุนแท่งไม้ในอุ้งมือ และฝึกการนำแท่งไม้ไปเสียบในตำแหน่งที่ต้องการ ซึ่งกว่าจะทำได้ถึงขั้นนี้ จะต้องเริ่มด้วยการทำสิ่งที่ง่ายกว่านั้นก่อน แล้วค่อยๆฝึกทำสิ่งที่ยากขึ้น จนถึงการฝึกตามตัวอย่างที่กล่าวข้างต้น การฝึกนิ้วมือเป็นสิ่งที่ต้องใช้ความอดทนอย่างสูง เพราะการฝึกในบางขั้นตอนอาจจะมองไม่เห็นความก้าวหน้าเลย แต่ต้องทำซ้ำๆทุกวัน นับร้อยนับพันครั้ง จึงพอจะเริ่มมีพัฒนาการขึ้นบ้าง

การฝึกกิจวัตรประจำวัน (ADL)
คือการฝึกให้ผู้ป่วยช่วยเหลือตัวเองในการทำกิจวัตรประจำวัน เช่น ทานข้าว เข้าห้องน้ำ เคลื่อนย้ายตัว ผลัดเปลี่ยนเสื้อผ้า หรืออาบน้ำ เป็นต้น ซึ่งผลของการฝึกนี้จะเป็นตัวชี้ว่า หลังจากที่ออกจากสถานฟื้นฟูแล้ว
ผู้ป่วยจะสามารถใช้ชีวิตประจำวันได้ด้วยตนเอง หรือจะต้องมีผู้คอยช่วยเหลืออยู่ตลอดเวลา

การฝึกการพูดและภาษา
คือการฝึกการเปล่งเสียง พูดทวนซ้ำ อ่านออกเสียง การทำความเข้าใจจากการฟัง การหายใจ การทำความเข้าใจจากการอ่าน และการเขียนหนังสือ เพื่อฟื้นฟูสมรรถนะทางด้านภาษาของผู้ป่วยที่สูญเสียไป
เช่น การพูด การฟัง การเขียน การอ่าน หรือการทำความเข้าใจ เป็นต้น

ระยะเวลาในการฟื้นฟู
เมื่อป่วยเป็นโรคเส้นเลือดสมอง เซลล์สมองที่ได้รับผลกระทบจะตาย และผู้ป่วยจะสูญเสียสมรรถนะต่างๆ ตามตำแหน่งหน้าที่ของเซลล์นั้นๆ

การฝึกกายภาพบำบัดและกิจกรรมบำบัด จะช่วยทำให้เซลล์สมองที่ยังไม่ตาย ทำหน้าที่ช่วยสั่งงานแทนเซลล์ที่ตายไปแล้ว แต่ทั้งนี้กายทำกายภาพบำบัดไม่สามารถช่วยให้ผู้ป่วยฟื้นฟูสมรรถนะให้กลับมาได้เหมือนเดิมทุกคน
ขึ้นอยู่กับสภาพอาการ บริเวณสมองที่เกิดปัญหา และพยาธิสภาพของผู้ป่วยแต่ละคน
โดยทั่วไป จำนวนผู้ป่วยที่ไม่สามารถฟื้นฟูสมรรถนะให้กลับคืนมาได้อย่างสมบูรณ์ คือยังคงมีอาการพิการอย่างหนึ่งอย่างใดเหลืออยู่ จะมีมากกว่า 2 เท่าของผู้ที่ไม่เหลืออาการพิการ

ผู้ป่วยโรคเส้นเลือดสมองที่มีอาการหนัก จะต้องใช้ชีวิตอยู่บนเตียงเป็นส่วนใหญ่ และต้องได้รับการดูแลทั้งในเรื่องการรับประทานอาหาร การขับถ่าย และกระทั่งการพลิกตะแคงท่านอน แต่หากอาการไม่หนักในขั้นรุนแรง
การทำกายภาพบำบัดก็จะช่วยให้ผู้ป่วยเหล่านี้กลับมาใช้ชีวิตได้ด้วยตนเองอีกครั้งหนึ่ง
เมื่อเปรียบเทียบการทำกายภาพบำบัดระหว่างแขนกับขา ขาซึ่งเป็นกล้ามเนื้อมัดใหญ่จะฟื้นฟูได้ดี และผู้ป่วยจำนวนมากจะสามารถกลับมาเดินได้ด้วยตนเองโดยการใช้อุปกรณ์ช่วยเหลือประเภทต่างๆ เช่น ไม้เท้า เป็นต้น

ส่วนนิ้วมือซึ่งเป็นกล้ามเนื้อมัดเล็ก หากไม่สามารถฝึกให้ขยับได้ในระยะแรกๆ จะเกืดอาการข้อต่อยึด ทำให้ไม่สามารถขยับหรือใช้งานได้ในภายหลัง กรณีที่ได้รับการฝึกกายภาพบำบัดที่ถูกต้องเหมาะสม ระยะเวลาที่จะมีโอกาสฟื้นฟูได้อย่างรวดเร็วที่สุดคือ ภายในช่วง 6 เดือนนับจากวันที่เกิดอาการป่วย แต่เมื่อพ้นระยะเลา 1 ปีไปแล้ว การฟื้นฟูก็จะเป็นไปในลักษณะค่อยเป็นค่อยไป นอกจากนี้ ระยะเวลาในการฟื้นฟูอาการพิการก็มีระยะเวลาที่จำกัด เช่น ผู้ป่วยที่มีอายุประมาณ 50 ปี ซึ่งยังถือว่ายังมีอายุไม่สูงนัก จะมีขีดความสามารถในการฟื้นฟูขีดความสามารถทางร่างกายได้สูงสุดเพียงประมาณ 14 เดือน ซึ่งหากพ้นจากนี้ไปแล้ว โอกาสที่จะฟื้นฟูให้ดีขึ้นกว่านั้น ก็จะเหลือน้อยลง และหากผู้ป่วยมีอายุมากกว่านี้ ระยะเวลาที่สามารถฟื้นฟูได้ดีที่สุดก็จะลดน้อยลงตามลำดับ

ดังนั้น ผู้ป่วยแต่ละคนจึงจำเป็นต้องรู้ถึงขีดความสามารถในการฟื้นฟูสมรรถภาพและอาการของตนเอง เพื่อเตรียมตัวสำหรับการใช้ชีวิตในอนาคตให้เหมาะสมต่อไป

การฝึกกายภาพบำบัดที่บ้าน
เมื่อออกจากศูนย์เวชศาสตร์ฟื้นฟูแล้ว ผู้ป่วยควรต้องทำกายภาพบำบัดต่อที่บ้านเพื่อรักษาสมรรถนะที่ได้รับการฟื้นฟูมาแล้วให้ดำรงอยู่ต่อไป หากไม่ทำกายภาพบำบัดที่บ้านอย่างต่อเนื่อง ข้อต่อต่างๆที่ไม่ได้รับการเคลื่อนไหวอย่างครบถ้วน
เช่น ข้อมือ นิ้วมือ ข้อศอก และหัวไหล่ ก็จะเกิดอาการยึดติดขึ้นอีก

การเคลื่อนไหวนิ้วมือ
คว่ำมือด้านที่อ่อนแรงลง และใช้ฝ่ามือด้านที่ปกติคร่อมทับด้านบน โดยให้แนวนิ้วชี้ของมือที่ปกติวางพาดบริเวณโคนนิ้วทั้ง 4 (นิ้วชี้ นิ้วกลาง นิ้วนาง นิ้วก้อย) ของมือที่อ่อนแรง จากนั้นให้ออกแรงเพื่อกดให้ข้อต่อบริเวณโคนนิ้วทั้ง 4 ของมือที่ไม่มีแรงงอลงด้านใน (งอนิ้ว) จากนั้นจึงออกแรงเพื่อยืดนิ้วทั้ง 4 ของมือที่ไม่มีแรงให้กลับอยู่ในสภาพเหยียดตรงเช่นเดิม (เหยียดนิ้ว) โดยทำท่างอนิ้วและเหยียดนิ้วสลับกันประมาณเซ็ต 30 ละครั้ง

การเคลื่อนไหวข้อมือ
ประสานมือทั้ง 2 ข้างเข้าด้วยกัน จากนั้นจึงออกแรงเล็กน้อยเพื่อกระดกและงอข้อมือด้านที่ไม่มีแรง โดยทำสลับกันประมาณเซ็ตละ 30 ครั้ง การงอนิ้วและการงอข้อมือมีหลักสำคัญว่า จะต้องเพ่งสมาธิไปยังจุดนั้นเท่านั้น ต้องไม่ออกแรงในบริเวณอื่น และไม่ทำให้อวัยวะอื่นที่ไม่เกี่ยวข้องขยับตามไปด้วย เพราะจะทำให้เกิดการเกร็งหรือเกิดการเคลื่อนไหวที่ผิดธรรมชาติ ซึ่งหากสมองจดจำสิ่งผิดๆเหล่านั้น ก็จะเป็นผลเสียในระยะยาว


ที่มา :
http://radiopaedia.org/articles/hypertensive-intracerebral-haemorrhage
http://en.wikipedia.org/wiki/Cerebral_hemorrhage
http://www.ncbi.nlm.nih.gov/pubmed/18988404
http://emedicine.medscape.com/article/1163977-overview#showall
http://www.phyathai.com/medicalarticledetail/1/5/93/th
http://www.bumrungrad.com/th/neurology-stroke-dementia-treatment-thailand/stroke
http://rehab2554.alotspace.com/stroke.php