Hypertension Update
คำถาม ความดันโลหิตสูง 2337 View(s)
เรียนถามคุณหมอครับ ถ้าความดันสูงจากประสาทอัตโนมัติมีความเครียด กลัว กังวลมีอาการทุกวัน
ความดันsys วัดได้150 กว่า mmHg ความดันล่าง dia วัดได้90กว่า mmHg สูงขึ้นตามอารมณ์เครียด กลัว กังวล พอคุมอารมณ์ความเครียดได้ก็ลดลงมา 130 กว่าmmHg สลับไปมาทั้งวัน ถ้าไม่สามารถจะคุมความเครียดได้ทั้งวัน ควรจะกินยาความดันชนิดไหนดีครับ และสังเกตถ้าใจกลัวเรื่องความดันจะสูงเวลาวัดก็จะยิ่งสูงทั้งค่าบนและค่าล่าง กลายเป็นโรคกลัวการวัดความกันไปเลยครับ คุณหมอครับจะทานยา amlodipine ได้ไหมครับ กี่มิลลิกรัมครับ เคยเส้นเลือดแตกจากความดันสูงปี2558แล้วครับ ถ้าจะหาหมอคุมยาความดัน ควรหาหมออายุรกรรม สมอง หัวใจหรือ ไตดีครับ ขอบคุณมากครับ

คำตอบ :
ความดันโลหิตสูงจากประสาทอัตโนมัติ จากการมีความเครียด ความกลัว หรือความกังวล ฯลฯ โดยสรุป คืออาจไม่ได้เป็นโรคความดันโลหิตสูงที่แท้จริง มักมีสาเหตุจากมีสิ่งกระตุ้นภายนอกบางประการ ในทางการแพทย์มีชื่อเรียกภาวะเหล่านี้ ได้แก่ Reactive hypertension , White-coat hypertension โดยมีคำนิยาม หมายถึง ภาวะความดันโลหิตที่วัดในคลินิก โรงพยาบาล หรือสถานบริการทางสาธารณสุข แล้วพบว่ามีความดันซิสโตลิก มากกว่าหรือเท่ากับ 140 มิลลิเมตรปรอท

และ/หรือ ความดันดัยแอสโตลิก มากกว่าหรือเท่ากับ 90 มิลลิเมตรปรอท แต่เมื่อวัดความดันโลหิตที่บ้านจากการวัดด้วยเครื่องวัดความดันโลหิตอัตโนมัติ พบว่าไม่สูง (ความดันซิสโตลิก น้อยกว่า 135 มิลลิเมตรปรอท และความดันดัยแอสโตลิก น้อยกว่า 85 มิลลิเมตรปรอท) โดยพบความชุกของภาวะดังกล่าวนี้ พบได้ประมาณ ร้อยละ 10 ถึง 20 การรักษาภาวะ White-coat hypertension สามารถทำได้โดยการไม่ใช้ยา ผู้ที่มีภาวะนี้ ควรปรับเปลี่ยนพฤติกรรมด้านการรับประทานอาหาร , การออกกำลังกาย , การลดน้ำหนัก , การหยุดสูบบุหรี่ และการควบคุมปัจจัยเสี่ยงอื่น เช่น นำตาลในเลือด , ไขมันในเลือด เป็นต้น โดยควรได้รับการตรวจติดตามกับแพทย์อย่างสม่ำเสมอ

แต่จากข้อมูลที่ผู้ถามให้เพิ่มเติมว่าเคยเส้นเลือดในสมองแตกจากโรคความดันโลหิตสูง อาจแสดงว่า เป็นโรคความดันโลหิตสูงที่แท้จริง ที่มีความเสี่ยงสูง (โดยในกรณีนี้ ต้องตัดสาเหตุอื่นๆ ที่ทำให้มีเลือดออกในสมองออกไปก่อน) การรักษาในกรณีนี้ ควรทำควบคู่ไปทั้งการปรับเปลี่ยนพฤิตกรรมชีวิต และ การใช้ยาลดความดันโลหิต โดยมีเป้าหมายควบคุมระดับความดันโลหิต ให้น้อยกว่า 140 / 90 มิลลิเมตรปรอท

สำหรับคำแนะนำเรื่องการใช้ยา แนะนำให้ปรีกษากับแพทย์ทางด้านอายุรกรรมทั่วไป หรืออายุรกรรมเฉพาะทางในส่วนที่มีความเกี่ยวข้อง เพื่อตรวจ วิเคราะห์วางแผนในการใช้ยาอย่างเหมาะสมในแต่ละคน

ข้อมูลอ้างอิง :
แนวทางรักษาโรคความดันโลหิตสูงในเวชปฏิบัติทั่วไป พ.ศ.2555
Blood Press Monit 1999 Dec;4(6):333-41
Curr Hypertens Rep 2000 Aug,2(4):412-7
Arch Intern Med 2008 December 8;168(22):2459-2465